วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

การพยาบาลผู้ป่วยพักฟื้นที่บ้าน

บุคคลส่วนใหญ่เมื่อเกิดเจ็บป่วยเรื้อรังมักต้องการรักษาตัวที่บ้านมากกว่าที่โรงพยาบาล เนื่องจากมีความสะดวกสบาย และอบอุ่นจากการใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัว มากกว่าในโรงพยาบาล นอกจากในกรณีที่เกิดเจ็บป่วยอย่างกะทันหัน และมีอาการที่จำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจรักษาจริง ๆ จึงจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
ดังนั้น การพยาบาลผู้ป่วยที่บ้าน ผู้พยาบาลควรมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพยาบาลผู้ป่วยที่บ้าน และรู้จักดัดแปลงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในบ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความสุขสบายตามสมควรและช่วยให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติเร็วยิ่งขึ้น

ข้อควรปฏิบัติ ในการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อที่บ้าน
1. จัดผู้ป่วยให้นอนแยกห้อง ไม่ปะปนกับผู้อื่น
2. รักษาความสะอาด และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ทั้งภายในและภายนอกบ้าน อาจปฏิบัติได้ดังนี้
2.1 การทำลายสิ่งปฏิกูลของผู้ป่วย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำมูก น้ำลาย กระดาษเช็ดปาก เศษอาหาร เป็นต้น ควรทำลายโดยการเผาหรือใช้ยาฆ่าเชื้อโรค
2.2 ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังการพยาบาลผู้ป่วย เนื่องจากมือเป็นอวัยวะที่นำโรคได้เป็นอย่างดี
3. วัดปรอท จับชีพจร สังเกตการหายใจ เพื่อทราบการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอยู่เสมอ และสามารถนำผลจากการสังเกตรายงานให้แพทย์ทราบ จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการผู้ป่วยได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

ข้อความคำนึงในการพยาบาลผู้ป่วยพักฟื้น
ในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องพักฟื้นที่บ้าน เพื่อให้ร่างกายกลับสู่สภาพปกตินั้น การพยาบาลพักฟื้นที่บ้านนับว่ามีความสำคัญ ผู้พยาบาลควรคำนึงในสิ่งต่อไปนี้
1. ความสุขสบายของผู้ป่วย ผู้พยาบาลควรช่วยเหลือผู้ป่วยให้พ้นจากความเจ็บปวดและไม่สบาย เช่น ผู้ป่วยหลังผ่าตัดและกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ผู้พยาบาลอาจให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์สั่ง การจัดท่าให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบาย เป็นต้น
2. สุขภาพจิตของผู้ป่วย ผู้พยาบาลควรเข้าใจผู้ป่วยในด้านอารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกมา เพราะอารมณ์ของผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแปลง เช่น หงุดหงิดและโกรธ ได้ง่าย เนื่องจากมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของตนมาก และพฤติกรรมบางอย่างของผู้ป่วยอาจไม่เป็นที่ยอมรับของตนและผู้อื่น ดังนั้นผู้พยาบาลไม่ควรแสดงกิริยาที่ไม่พอใจต่อผู้ป่วย
3. ให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วย ผู้พยาบาลควรช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจในตนเอง เช่น การแนะนำการปฏิบัติตนของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเอง การให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยพักฟื้น เป็นต้น
4. การออกกำลังกายและการพักผ่อน ควรแนะนำและช่วยเหลือผู้ป่วยออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ควรให้ผู้ป่วยออกกำลังกายมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจหรือผู้ป่วยหลังผ่าตัดควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์
5. อาหาร ควรแนะนำหรือจัดอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผู้ป่วยบางคนจะต้องกินอาหารเฉพาะแพทย์สั่ง เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ดังนั้น ผู้พยาบาลควรให้กำลังใจและอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ เพื่อความร่วมมือของผู้ป่วยเกี่ยวกับอาหาร

อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น